• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

พิษล็อกดาวน์โควิด-19 เศรษฐกิจพังยับกว่า 7 แสนล้าน ว่างงานเพียบ

Started by dsmol19, August 28, 2021, 12:35:31 PM

Previous topic - Next topic

dsmol19



การออกมาแถลงถึงภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2/2564 ขอ "นายดนุชา พิชยนันท์"  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นับจากเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมาจนบัดนี้ที่ใช้ยาแรงระดับ  "ล็อกดาวน์" คุมเข้มการเดินทาง ยังไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นมากนัก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขคนติดเชื้อและตายรายวันที่แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังถือว่า "เยอะ"  รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งสะเทือนไปถึงการว่างงาน ขาดรายได้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน กลายเป็นปัญหางูกินหางที่ยังหาทางออกไม่ได้

ถ้อยแถลงของนายดนุชา เริ่มต้นด้วยภาพรวมการจ้างงานที่ดูเหมือนจะเป็น "ข่าวดี" โดยระบุว่า ช่วงไตรมาส 2/2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย การจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานกลับภูมิลำเนาและเข้าสู่ภาคเกษตร และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.8% โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคการผลิตและภาคค้าส่งค้าปลีกที่การจ้างงานลดลง

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/จัดเก็บสินค้า มีการขยายตัว ร้อยละ 5.1, 5.4 และ 7.1 ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตและการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัวร้อยละ 2.2 และ 1.4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลง 2.2% นั้น ไม่ได้ลดลงทุกสาขา โดยสาขาการผลิตเพื่อส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสาขาที่การจ้างงานลดลง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

 ขณะที่ตัวเลขการ "ว่างงาน" นั้นออกจะเป็น "ข่าวร้าย" เพราะตัวเลขยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของ โควิด-19 ระลอกใหม่นับตั้งแต่เมษายน 2564 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลงร้อยละ 8.38 

สภาพัฒน์ ยอมรับว่า โควิด-19 ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน กรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่เมษายน 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียงร้อยละ 5.5 หรือมีจำนวน 0.56 ล้านคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานทำให้แรงงานต้องนำเงินเก็บออมมาใช้มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลยอดคงค้างเงินฝากต่อบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 บาท ในเดือนมิถุนายน 2564 ลดลง 4.14% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ส่วนหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1/2564 มีจำนวน 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 90.5% ของจีดีพี โดยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 6.5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นถึง 6% จากที่หดตัว 1.3% ในช่วงไตรมาส 1/2564 ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และบัตรกดเงินสด

ด้านสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 6% เพิ่มขึ้นจากขยายตัว 5.3% ในช่วงไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการ และมาตรการลดค่าโอนจำนองของภาครัฐ ส่วนสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่สินเชื่อเพื่อยานยนต์ขยายตัว 2.3% ชะลอตัวต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 3.3% ในช่วงไตรมาสก่อน

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย และสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/2564 สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้น จาก 2.84% ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับความสามารถในการชำระหนี้ในภาพรวมที่ด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนมีความสามารถในการหารายได้ลดลงหรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น

นายดนุชา ยังระบุว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และพื้นที่ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เนื่องจากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีเริ่มภาวะความเครียดมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า



แรงงานตกงาน ธุรกิจพังพินาศจากมาตรการล็อกดาวน์จนเจียนทนไม่ไหว แม้แต่โครงการของรัฐบาลเองอย่างเช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ก็ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กลับไปพิจารณาถ้าไม่สามารถเริ่มต้นได้ในเดือนตุลาคมนี้ ก็ยุติโครงการคืนวงเงินกู้ไป

ขณะที่ภาคเอกชน ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนและผ่อนคลายการล็อกดาวน์ โดย นางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์  กรรมการสมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้แทนคณะทำงาน 8 สมาคมธุรกิจ ประกอบด้วย สมาคมศูนย์การค้าไทย, สมาคมธุรกิจร้านอาหาร, กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมคลินิกเอกชน, สมาคมวิชาชีพช่างผมไทย, สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย, สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมสนามกอล์ฟไทย ได้ยื่นหนังสือต่อพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ผอ.ศปก.ศบค., นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ลดระดับการล็อกดาวน์เพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจ และเสนอแนวทางการเปิดศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และธุรกิจต่างๆ ในศูนย์การค้า และสนามกอล์ฟ

ผู้แทนของ 8 สมาคมภาคเอกชน ระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบหนัก ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยประเมินความเสียหายจากการล็อกดาวน์ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และร้านค้าประเภทต่างๆ มีมูลค่าโดยรวมกว่า 700,000 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่แหล่งติดเชื้อที่มาจากศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามกอล์ฟนั้นต่ำมาก

นางศุภานวิต ยืนยันว่า ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรฐานทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้มาใช้บริการในศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ และสนามกอล์ฟ โดยขอให้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาการปลดล็อกเป็นระยะ และมีแผนการปลดล็อกที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยอาจใช้เกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ เช่น อัตราได้รับการฉีดวัคซีนของประชาชน

นอกจากนี้ จากกรณีศึกษารัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้ปลดล็อกให้ศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และสนามกอล์ฟ เปิดให้บริการปกติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายประเทศใช้เกณฑ์การได้รับวัคซีนของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีตั้งแต่ 45-70% ของประชากร และแนวโน้มของผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตลดลงตามลำดับ ดังนั้น กรุงเทพฯ มีประชากรกว่า 80% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าหลายประเทศที่กล่าวข้างต้น จึงขอให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดการและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว และพิจารณาให้เปิดธุรกิจต่างๆ ในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามกอล์ฟ

ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอในหลักการ และให้กรมควบคุมโรค จัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 27 สิงหาคม โดยมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ที่จะให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ประมาณ ร้อยละ 50 รวมถึงสถานประกอบการกลางแจ้ง สถานออกกำลังกายต่างๆ ก็อาจจะได้มีการผ่อนคลายให้ต่อไป

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีข้อเสนอมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 และเร่งรัดให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และอุ้มเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้พังพินาศไปมากกว่านี้เช่นกัน

 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตและส่งผลกระทบทุกภาคส่วน โดยภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงานเป็นจำนวนมาก ส.อ.ท.ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงจัดทำมาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้คอนเซปต์ "ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน" คือ
มาตรการ Bubble and Seal โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวน
พนักงาน ทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ

สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงาน จัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา

สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine, Community Isolation ศูนย์พักคอยและแยกกักตัวให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังขอให้จัดสรรวัคซีนตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด

 เรียกว่าล็อกดาวน์จนเศรษฐกิจพังพินาศ จะเปิดเมืองก็หวั่นเอาไม่อยู่ทำสถานการณ์แพร่ระบาดบานปลายไปมากกว่านี้ นี่เป็น.อายุรัฐบาลลุงที่นับวันสั้นลงทุกขณะ