• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

นายกฯ แถลงข่าวจุดยืนลดภาระทางการศึกษา ย้ำรัฐบาลสนับสนุน

Started by Jenny937, August 16, 2021, 02:58:10 PM

Previous topic - Next topic

Jenny937



วันนี้ (16 ส.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในงานแถลงข่าว "จุดยืนลดภาระทางการศึกษา" ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษา เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงครูที่เป็นด่านหน้าในการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน จึงได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ รวม 3 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 การจ่ายเงิน "เยียวยานักเรียน" ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อาทิ โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนทุกสังกัดที่เปิดสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้

มาตรการที่ 2 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่น ๆ และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ

มาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่าง ๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่าง ๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ขณะที่การลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น รวมถึงการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง ซึ่งการนับเมื่อเกิดการเรียนรู้จะช่วยลดความตึงเครียด ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักไป ทำให้เกิดรูปแบบการดำรงชีวิตวิถีใหม่ที่เรียกว่า New Normal ที่เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านการศึกษาเช่นกัน ปัจจุบันนั้นการศึกษาในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการเรียนการสอนทางไกล ให้นักเรียนเรียนที่บ้าน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน สำหรับโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา ทั้งมาตรการทางการเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน และอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการศึกษา ทั้งนี้ ก็เพื่อจะลดผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ผู้เรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับทั้งได้มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะเรื่องของความรู้ แต่ต้องสามารถจะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นไปประยุกต์กับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้ได้ในภายภาคหน้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ให้นักเรียนได้รับอุปกรณ์การศึกษา ระบบอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการศึกษาที่บ้าน เพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ได้รับความรู้อย่างครบถ้วน และมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมทั้งให้มีการปลูกฝังวินัย จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการทำให้ครู เด็ก ผู้ปกครอง ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในลักษณะ Active Learning โดยขอให้มีการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เด็กสนใจ เอาใจใส่ในการเรียน ถึงแม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม ซึ่งผู้ปกครองหลายท่านก็มีภาระ หลายท่านก็อาจจะดูแลได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเด็ก อยู่ที่ครู อยู่ที่วิธีการสอน จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลครูให้มีการเตรียมความพร้อมรับการศึกษาในรูปแบบใหม่ต่อไปในอนาคต ที่นับวันจะมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นในโลกยุคหลังสถานการณ์โควิดยุติลงแล้ว ที่เรียกว่า New Normal โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้นำแนวทางที่นายกฯ เคยมอบนโยบายไปแล้วหลายครั้งนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ พร้อมกับให้มีการประเมินผลทั้งครูและเด็ก ให้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับรูปแบบ ปรับหลักสูตร เอกสารตำราต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยและสามารถที่จะสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าการศึกษานี้ศึกษาไปเพื่ออะไร เพื่อให้มีงานทำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของครูให้คนอื่นยอมรับ และที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อเรียนทางวิชาการแล้วต้องเรียนรู้ในการปฏิบัติไปด้วยพร้อม ๆ กัน มิฉะนั้นก็ไม่รู้คุณค่าว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร

นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณและชื่นชมทุกคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูง สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้ และช่วยกันสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือลดภาระทางการศึกษาแก่ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจะอำนวยและขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแม้ในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ ต้องเตรียมให้เด็กมีความพร้อม ให้เป็นเด็กที่เข้มแข็ง เป็นคนดีในสังคม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน เคารพในสถาบันหลักของชาติ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ของเราให้มีอนาคต แล้วประเทศชาติก็จะมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้ทุกคนปลอดภัย สำเร็จในการทำงาน มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง และอวยพรให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ บรรลุผลตามเจตจำนงที่วางไว้ทุกประการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งเด็ก เยาวชนของไทย และผู้ปกครองที่วาดหวังว่าลูกหลานจะเจริญเติบโตได้ในอนาคต มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นจะต้องร่วมมือไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้ทุกคนได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ให้รุ่งเรืองต่อไป