• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ตลาดหุ้นยุค “มารวย” / สุนันท์ ศรีจันทรา

Started by Chanapot, October 16, 2021, 05:36:02 PM

Previous topic - Next topic

Chanapot

ถ้าไม่นับนายศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนแรก ดร.มารวย ผดุงสิทธ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ดังจนถึงขึ้นมีคนนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อร้านอาหาร ชื่อหมู่บ้านและชื่อบริษัท

ดร.มารวยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ในวัย 92 ปี โดยเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ คนที่ 5 ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2528 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2535

ชื่อเสียงของ ดร.มารวย ที่ดังกระฉ่อนขึ้นมา เพราะตลาดหุ้นยุค ดร.มารวย ฟื้นคืนสู่ความรุ่งโรจน์ กลับสู่ช่วงขาขึ้นเต็มตัว นักลงทุนในตลาดหุ้นช่วงระหว่างปี 2530-2535 ส่วนใหญ่ร่ำรวยกันถ้วนหน้า

ใครเข้ามาในตลาดหุ้นช่วงนั้น ถือว่า "มา" แล้ว "รวย"

ก่อน ดร.มารวยเข้ารับตำแหน่ง ตลาดหุ้นตกอยู่ในความซบเซายาวนานเกือบ 8 ปีเต็ม นับจากวิกฤต บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด เมื่อกลางปี 2522 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีที่ทำการอยู่ชั้น 4 อาคารสยามสแควร์ โดยซื้อขายในระบบเคาะกระดาน

นักลงทุนที่สั่งซื้อขายหุ้นเป็นประจำมีจำนวนไม่กี่พันคน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละไม่กี่ร้อยล้านบาท

การล่มสลายของ บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ของนายเสรี ทรัพย์เจริญ หุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรงในยุคปี 2522 ฉุดให้หุ้นที่มีจำนวนไม่ถึง 100 บริษัทดิ่งลงทั้งตลาด นักลงทุนเสียหายถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว ตลาดหุ้นพังครืนลง

นักลงทุนแทบทั้งหมด หันหลังเดินออกจากตลาดหุ้น จนห้องค้าหลักทรัพย์โบรกเกอร์ต่าง ๆเงียบดุจป่าข้า เพราะไม่เหลือลูกค้า ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องออกมาตรการ อนุญาตให้โบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นกันเอง เพื่อสร้างมูลค่าการซื้อขายหุ้นให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 30 ล้านบาท ทำให้ดูเหมือนว่า ตลาดหุ้นยังมีความเคลื่อนไหวอยู่

ในช่วงแรกที่ ดร.มารวยเข้ารับตำแหน่ง พยายามปลุกตลาดให้ฟื้น คิดหามาตรการมากมาย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาลงทุน มีการว่าจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อวางแผนพลิกฟื้นตลาดหุ้น

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ,ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา , ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.พิพิฒน์ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ถูกระดมเป็นมันสมอง ช่วย ดร.มารวย คิดหามาตรการกระตุ้นตลาดหุ้น

ห้องคณะที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ ชั้น 3 อาคารสินธร ถนนวิทยุ ในวันที่คณะที่ปรึกษาตลาดหุ้น มักคลุกเคล้าด้วยควันบุหรี่ จน ดร.สมชายแทบสำลัก เพราะช่วงนั้น ดร.สมคิดเป็นคนสูบบุหรี่จัด

ดัชนีราคาหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างปี 2528-2529 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 140-150 จุด ค่า พี/อี เรโช เฉลี่ยตลาดอยู่ ที่ประมาณ 8 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยระดับ 5-6% แต่ไม่ได้จูงใจให้ประชาชนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นแต่อย่างใด

เพราะนักลงทุนกลุ่มเดิมเข็ดขยาดตลาดหุ้น ประชาชนทั่วไปก็มองภาพพจน์ตลาดหุ้นในด้านลบ เป็นบ่อนการ. และเต็มไปด้วยการปั่นหุ้น นอกจากนั้นเศรษฐกิจยังตกต่ำ

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ฯ เป็นใคร แทบไม่มีคนรู้จัด ชื่อ ดร.มารวย ยังไม่ดังกระฉ่อน จนกระทั่งปลายปี 2529 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มโงหัว ตลาดหุ้นจึงเริ่มคึกคักขึ้น ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ทยอยเข้าเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์

ดัชนีหุ้น ฯ สิ้นปี 2529 ปิดที่ 207 จุด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 7 ปี นับจากวิกฤต "ราชาเงินทุน" และถือเป็นจุดเริ่มต้นตลาดหุ้นยุค "มารวย" โดยดัชนีหุ้น ฯ เป็นขาขึ้นยาวนานต่ออีก 6 ปีเต็ม ก่อนสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 1,753 จุด ในวันที่ 4 มกราคม 2537

หลังจากนั้นจึงทรุดลง เพราะเกิดวิกฤตค่าเงินเปโซของเม็กซิโก ตลาดหุ้นพังทลายอีกครั้ง ดัชนีหุ้น ทรุดลงไปต่ำสุดที่ระดับ 205 จุด ในปี 2541 และเป็นช่วงที่ ดร.นิเวศ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นมูลค่าเพิ่ม เริ่มต้นชีวิตนักลงทุนเต็มตัวเป็นครั้งแรก ด้วยเงิน 10 ล้านบาท แต่ช่วงเวลาประมาณ 10 ปี สามารถทำเงินจากตลาดหุ้นได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ดร.มารวยเป็นอีกตำนานของตลาดหุ้น อนุสรณ์ที่หลงเหลือคือ ห้องสมุด "มารวย" ของตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รวมองค์ความรู้เรื่องหุ้น ซึ่งนักลงทุนหน้าใหม่ควรใช้เป็นจุดเริ่มต้นศึกษาหาความรู้การลงทุน

ตำนาน "ดร.มารวย ผดุงสิทธ์" ปิดฉากลงแล้ว แต่ตลาดหุ้นยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางผู้คนที่เดินทางเข้ามาแสวงหาความร่ำรวยไม่มีที่สิ้นสุด