• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ เมื่อวงจรหนี้โดนตัดก็ไปต่อไม่ได้

Started by Jessicas, September 20, 2021, 11:41:53 AM

Previous topic - Next topic

Jessicas



ไชน่า เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของจีน มีรายได้รวมในปี 2563 ถึง 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 1,300 โครงการใน 208 เมืองทั่วประเทศจีน และเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้มากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยคือ เกือบ 2 ล้านล้านหยวน เท่ากับ 3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีธนาคารและสถาบันการเงินจีนเป็นเจ้าหนี้กว่า 128 แห่ง เป็นมูลหนี้ 572,000 ล้านหยวน

วันที่ 20 กันยายน ถึงกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บางส่วนของหนี้เหล่านี้ เอเวอร์แกรนด์แจ้งกับเจ้าหนี้เมื่อต้นสัปดาห์ก่อนว่า อาจจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยตามกำหนดได้ และกำลังเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้รวมทั้งขอรีไฟแนนซ์หนี้บางส่วน สถาบันจัดอันดับเครดิตเอสแอนด์พี และฟิทช์ เรตติ้งส์ ปรับลดความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ลงไปอยู่ในอันดับที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้

วันที่ 17 กันยายน ธนาคารกลางจีน อัดฉีดเงินสดสูงถึง 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 460,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งนับเป็นการอัดฉีดเงินก้อนใหญ่ที่สุดในปีนี้ คาดเดากันว่าเพื่อเสริมสภาพคล่อง รองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ หรือล้มละลาย นอกเหนือจากการอัดฉีดเงินเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่ประชาชนจะมีการใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติ

เอเวอร์แกรนด์ ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ออก "จังค์บอนด์" หรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงรายใหญ่สุดของจีน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านหยวน หรือเท่ากับ 10% ของหนี้ทั้งหมด นอกจากนักลงทุนสถาบันที่ถือตราสารเหล่านี้แล้ว ยังมีนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งพนักงานบางส่วนของเอเวอร์แกรนด์เองที่ซื้อตั๋วเงินของเอเวอร์แกรนด์ ที่ให้ดอกเบี้ยสูง

เจ้าหนี้อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ซื้อคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ของเอเวอร์แกรนด์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่จ่ายเงินดาวน์ล่วงหน้าไปแล้วเป็นเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ 1.4 ล้านราย คิดเป็นมูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน

นอกจากนั้นยังมีเจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซัปพลายเออร์ ซึ่งเอเวอร์แกรนด์ติดค้างค่าจ้าง ค่าสินค้าอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของเจ้าหนี้เหล่านี้หลายร้อยคนไปชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานเอเวอร์แกรนด์ ที่เซินเจิ้นและเฉิงตู เรียกร้องให้บริษัทจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่ ที่เมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี นักลงทุนที่ซื้อตั๋วเงินเอเวอร์แกรนด์กว่า 300 คน บุกจับผู้บริหารสาขาเอเวอร์แกรนด์เป็นตัวประกัน เพื่อขอเงินลงทุนคืน

เอเวอร์แกรนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยสวี่ เจียยิ่นซึ่งได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์เป็นคนรวยอันดับ 3 ของจีน และเป็นอันดับที่ 31 ของโลก เอเวอร์แกรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบใหญ่ของชนชั้นกลาง ที่เป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นตลาดที่เป็นความต้องการที่อยู่อาศัยจริงและตลาดเก็งกำไร

เช่นเดียวกับธุรกิจเอกชนยักษ์ใหญ่อื่นๆ เอเวอร์แกรนด์ระดมทุนโดยการก่อหนี้มาขยายธุรกิจ ทั้งที่เป็นหนี้ที่กู้จากสถาบันการเงิน และการกู้โดยตรงจากตลาดเงิน โดยการออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ขายให้กับนักลงทุนรายย่อย

สองปีที่แล้วรัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายจำกัดการก่อหนี้ของภาคเอกชน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้น ยังควบคุมการกู้เงินผ่านตลาดการเงิน ในรูปของการออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ตั๋วเงินขายให้กับประชาชนทั่วไป เพราะการระดมทุนในลักษณะดังกล่าว ขยายตัวใหญ่มากจนเกิดเป็น "ธนาคารเงา" ใหญ่กว่าธนาคารในระบบ แต่ไม่มีระบบกำกับดูแล และมีหลายกรณีที่เข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" ที่ทำให้ประชาชนต้องสูญเงินจำนวนมาก

นโยบายจำกัดการก่อหนี้ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาสภาพคล่องเรื่อยมา นอกจากนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในสภาวะซัปพลายมากกว่าดีมานด์หลายเท่า รายได้จากการขายโครงการล่วงหน้า ไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทลดภาระหนี้สินที่สั่งสมมานานหลายปีให้ลดน้อยลงไปได้

เอเวอร์แกรนด์จึงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และระบบเศรษฐกิจจีน ที่ตอนนี้ใกล้จะระเบิดแล้ว มีการเปรียบเทียบเอเวอร์แกรนด์กับเลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงิน การลงทุนของสหรัฐอเมริกา ที่ล้มละลายไปเมื่อปี ค.ศ. 2008 และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า วิกฤตซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

แต่เอเวอร์แกรนด์ แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีน แต่เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว ถือว่าเล็กมาก ไม่ได้ใหญ่จนรัฐบาลต้องอุ้มเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบ หนี้ที่มีกับสถาบันการเงินก็อยู่ในขอบเขตที่จัดการได้ หากว่าจะกลายเป็นหนี้เสีย อีกทั้งนโยบายล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อภาคเอกชนคือ การควบคุมไม่ให้ใหญ่เกินไป และจำกัดการก่อหนี้ไม่ให้เป็นความเสี่ยงต่อระบบ รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่สนับสนุนการสร้างความร่ำรวยที่มากเกินไป

ดังนั้น รัฐบาลปักกิ่งจึงน่าจะปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์แก้ปัญหาเอง ตามครรลองของธุรกิจไม่เข้าไปแทรกแซงโดยไม่จำเป็น ถ้าแก้ไม่ได้ก็ปล่อยให้ล้มไปเอง