'กรมเจรจาฯ' แจ้งผู้ส่งออกรับมือมาตรการยกเลิกบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกของคู่ค้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งเตือนผู้ส่งออก (https://www.narathiwatnews.com/nusa-%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81-pp-%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%8b%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad-%e0%b8%ab%e0%b8%b8%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c/)เตรียมรับมือกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า เผยปีนี้หลายประเทศจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก อาทิ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ แนะผู้ประกอบการปรับตัวและพัฒนาบรรจุภัณฑ์นำกลับมาใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบรับนโยบาย BCG ของไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคู่ค้าของไทยหลายประเทศจะเริ่มบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในปีนี้ประเทศที่จะบังคับใช้มาตราการดังกล่าว อาทิ ฝรั่งเศส เริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจำหน่ายผักและผลไม้ในบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้ร้านค้าปลีกห้ามนำบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกหรือมีส่วนประกอบของพลาสติกมาใช้ห่อสินค้าผักสดและผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป และจะทยอยบังคับใช้กับสินค้าผักสดและผลไม้สดแต่ละชนิดไปจนถึงปี 2569 เพื่อสอดรับกับนโยบายยุโรปสีเขียว (European Green Deal)
สำหรับเกาหลีใต้ จะปรับปรุงระเบียบการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ แก้ว จาน และช้อนส้อม ภายในร้านอาหารและคาเฟ่ และตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 ห้ามใช้ทั้งถ้วยกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง หลอดพลาสติก และที่คนเครื่องดื่มพลาสติก รวมทั้งห้ามใช้ถุงพลาสติกในร้านค้าปลีก อาทิ ร้านสะดวกซื้อ และร้านเบเกอรี่ ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกาหลีใต้ได้ผ่อนผันมาตรการฯ ชั่วคราว โดยอนุญาตให้ร้านอาหารและคาเฟ่ใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งได้ แต่ในปีนี้จะบังคับใช้มาตรการอย่างจริงจัง ตามนโยบาย ?Green New Deal? ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากพลาสติกให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และใช้พลาสติกชีวภาพแทนการใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมภายในปี 2593
นอกจากนี้ ปัจจุบันสหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์ ออกมาตรการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก จีน ออกมาตรการห้ามร้านค้าใช้ถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย และออสเตรเลีย ออกระเบียบห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดของหลายประเทศและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
25 มกราคม 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ